ReadyPlanet.com


มานุษยวิทยาความงามและเรือนร่าง Anthropology of Beauty and Body


  

การมัดเท้าของชาวจีน

 
 
 
บริการ เสริมดั้ง ศัลยกรรมจมูก โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากเกาหลี โดย K Beauty Hospital ติดต่อเรา Line : @kbeautyhosp




           Edmonds (2008) นักมานุษยวิทยาแห่งมหาวิทยาลัย Edinburgh ประเทศอังกฤษ ตั้งข้อสังเกตว่านักมานุษยวิทยาพยายามมองหาความหลากหลายของความงามในอุดมคติและในทางปฏิบัติ จากการศึกษาและเก็บข้อมูลของนักมานุษยวิทยาทั่วโลกในพื้นที่ที่แตกต่าง จะพบว่ามนุษย์ในแต่ละวัฒนธรรมล้วนมีวิธีการสร้างความงามบนร่างกายที่ไม่เหมือนกัน เช่น การทำรอยแผลเป็นบนร่างกายและใบหน้าของชนเผ่านูบาในประเทศซูดาน การเขียนลายบนใบหน้าของชาว Caduveo ในประเทศบราซิล การมัดเท้าของชาวจีน การรัดเอวของชนพื้นเมืองใน หมู่เกาะปาปัว และการทำให้คอยืดยาวขึ้นของชาวปาดองในพม่า เป็นต้น วิธีการปฏิบัติบนร่างกายเหล่านี้ดูเหมือนสร้างความเจ็บปวดและเป็นความรุนแรงจากสายตาของคนนอก หรือถูกมองว่าเป็นสิ่งที่ไม่น่ามองสำหรับคนสมัยใหม่ที่มองความงามต่างออกไป ข้อพิจารณานี้นำไปสู่คำถามสำคัญที่ว่าอุดมคติความสวยและความงามของเรือนร่างในสังคมมนุษย์มีการแสดงออกที่ต่างกันอย่างไร

 

Chernin (1981) เคยตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับอุดมคติของการมีรูปร่างผอมเพรียวเหมือนนางแบบ ซึ่งเป็นวิธีคิดและการปฏิบัติต่อร่างกายในสังคมสมัยใหม่ที่มีอิทธิพลต่อการแสดงออกทางเรือนร่างและสรีระของผู้หญิงจำนวนมาก ในขณะที่ Tyler and Wilkinson (2007) อธิบายว่าความนิยมรูปร่างผอมคือมาตรฐานความงามของคนเมืองที่มีชีวิตอยู่กับการทำงานในองค์กรซึ่งเต็มไปด้วยกฎระเบียบมากมาย ผนวกกับความรู้เรื่องโภชนาการแบบตะวันตกที่สอนให้บุคคลรู้ว่าควรกินอาหารประเภทไหนที่จะไม่ทำให้ร่างกายอ้วนและมีน้ำหนักเกิน ความรู้ดังกล่าวนี้สัมพันธ์กับวัฒนธรรมสุขภาพสมัยใหม่ที่แพทย์มีบทบาทในการให้ความรู้เรื่องการดูแลน้ำหนักตัวให้เหมาะสมเพื่อมิให้เกิดโรค การควบคุมรูปร่างให้อยู่ในมาตรฐานจึงเป็นระบบเหตุผลที่มีส่วนทำให้มนุษย์ “กลัวความอ้วน” และโรคร้ายที่จะตามมา ประกอบการการโฆษณาของสื่อที่ตอกย้ำเรื่องรูปร่างที่ผอมบางที่น่าปรารถนา ทำให้คนยุคใหม่หลีกหนีและไม่ชอบร่างกายที่มีน้ำหนักมาก วิธีคิดเรื่องความผอมดูเหมือนจะสวนทางความความนิยมร่างกายอวบอิ่มของผู้หญิงที่พบเห็นในหลายวัฒนธรรมตั้งแต่อดีตกาล ความคิดที่แตกต่างระหว่าง “ความผอม” และ “ความอ้วน” คือประเด็นที่นักมานุษยวิทยานำไปศึกษาเกี่ยวกับความงามแห่งเรือยนร่างที่มนุษย์มีประสบการณ์ต่างกัน

 

มุมมองของสตีนิยมเกี่ยวกับความงามของผู้หญิง

           นักวิชาการสตรีนิยมจำนวนมาก พยายามวิเคราะห์ความงามของผู้หญิงในฐานะเป็นผลผลิตจากอำนาจชายเป็นใหญ่ (Bartky, 1990; Wolf, 1991; Jeffreys, 2005; Rankin, 2005) กล่าวคือภายใต้ระบอบอำนาจที่ผู้ชายได้สร้างกฎเกณฑ์ความสัมพันธ์ทางสังคม ส่งผลให้เกิดมาตรฐานความงามที่ผู้ชายพึงปรารถนาโดยกำหนดรูปร่างผู้หญิงในเชิงอุดมคติที่มีความผอมเพรียวที่มีเสน่ห์ทางเพศ ผู้หญิงสวยในความคิดของผู้ชายจึงต้องไม่อ้วน รวมถึงกฎเกณฑ์ความงามที่อยู่ในสินค้าและบริการ วัฒนธรรมบริโภค และธุรกิจความงามและสุขภาพที่เลือกผู้หญิงที่มีรูปร่างผอมเป็นต้นแบบ สิ่งเหล่านี้ถูกอธิบายในฐานะเป็นอำนาจแบบผู้ชายที่ครอบงำวิธีปฏิบัติบนเรือนร่างของผู้หญิง กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ อำนาจปิตาธิปไตยแบบตะวันตกดำเนินไปพร้อมกับความรู้วิทยาศาสตร์ที่ถูกใช้เป็นเหตุผลในการควบคุมและจัดระเบียบร่างกาย “ความเป็นหญิง” จึงถูกสร้างด้วยมาตรฐานความงาม Wolf (1991) และ Bordo (1993) เคยวิจารณ์ประเด็นนี้ไว้ว่าความสวยของผู้หญิงคือมายาคติภายใต้สังคมที่ถูกควบคุมด้วยโลกทัศน์และความรู้ของผู้ชาย คำอธิบายแนวสตรีนิยมยังเสนอว่าบรรทัดฐานของ “ความเป็นหญิง” ถูกกำหนดขึ้นจากเครือข่ายอำนาจที่ครอบงำผู้หญิงไม่ว่าจะเป็นความรู้การแพทย์และอุตสาหกรรมความงาม เมื่อผู้หญิงปฏิบัติตามความรู้เหล่านี้ก็เสมือนตกอยู่ใต้การควบคุมกดขี่ที่ผู้หญิงไม่รู้ตัว

           อย่างไรก็ตาม มีการตั้งข้อสังเกตว่าคำวิจารณ์ของสตรีนิยมอาจมองผู้ชายเป็นสิ่งเลวร้ายเกินไป ทั้งนี้ ในหลายสังคม รูปแบบอำนาจของผู้ชายล้วนแสดงออกในลักษณะที่หลากหลายและเปลี่ยนแปลงไปตามช่วงเวลา อำนาจของผู้ชายในแต่ละบริบทอาจมิใช้สิ่งที่กำหนดหรือมีอิทธิพลต่อการควบคุมความงามของผู้หญิงเสมอไป หากพิจาณาถึงความแตกต่างทางวัฒนธรรม อาจพบว่าทัศนะคติ ความเชื่อ และอุดมการณ์เรื่องความงามสัมพันธ์กับเชื้อชาติ ชนชั้น และฐานะทางสังคม ภายใต้วัฒนธรรมเดียวกัน ผู้หญิงและผู้ชายที่มีชนชั้นต่างกันย่อมแสดงออกในความงามที่เหมือนกัน ตัวอย่างเช่นในสังคมยุคใหม่ ผู้ชายก็นิยมดูแลร่างกายของตัวเองให้มีสุขภาพและเรือนร่างที่แข็งแรง (Bordo, 1999) ความสนใจเรื่องความงามจึงมิใช่เป็นเพียงผลผลิตของระบบปิตาธิปไตยเท่านั้น แต่ยังเกี่ยวข้องกับบริบทสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น ความคิดเรื่องปัจเจกนิยม เสรีภาพ และประชาธิปไตยที่ผลักดันบุคคลออกมาแสดงออกและสร้างตัวตนในแบบที่พึงปรารถนา (Castells, 1997) ในสังคมปัจจุบันจะเห็นแนวโน้มที่ความเป็นชายและความเป็นหญิงถูกกำหนดขึ้นจากความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนและเชื่อมโยงกับเพศสภาพและเพศวิถีที่เปลี่ยนไป บรรทัดฐานความงามจึงมิใช่เพียงอำนาจที่ผู้ชายใช้ควบคุมผู้หญิง แต่ยังเป็นอำนาจที่ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำภายในสังคมบริโภค

 

มุมมองความงามจากทฤษฎีชีววิทยา

           นักวิชาการสายชีววิทยาทางสังคม อธิบายว่าความงามเป็นกลไกคัดเลือกตามธรรมชาติ รูปร่างที่ไม่เหมาะสมและไม่ได้สัดส่วนจะถูกปรับแก้ไขและถูกขจัดไปในช่วงวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต ทำให้เกิดการคัดสรรรูปร่างที่เหมาะสมและสวยงามปรากฎอยู่ในสิ่งมีชีวิตรุ่นต่อมา คำอธิบายดังกล่าวนี้ให้ความสำคัญกับปัจจัยทางร่างกาย เช่น พันธุกรรมของสิ่งมีชีวิต ซึ่งส่งผลกระทบต่อการเกิดรูปร่างของสรีระที่เหมาะสมสำหรับการดำรงชีวิต อาจกล่าวได้ว่า “ความงามเท่านั้นที่จะอยู่รอด” เช่น ธรรมชาติสร้างรูปร่างของหญิงและชายให้ต่างกัน ผู้หญิงต้องมีสะโพกผายกว้าง เอวคอด ผู้ชายต้องมีหัวไหล่กว้างมีกล้ามที่แข็งแรง เป็นต้น ข้อกำหนดทางพันธุกรรมนี้ถูกอธิบายว่าเป็นการคัดเลือกตามธรรมชาติที่ส่งผลให้เกิดรูปแบบและมาตรฐานความงามที่สิ่งมีชีวิตสามารถดำรงอยู่ได้ (Etcoff, 1999; Slater, 2003)

           อย่างไรก็ตาม ทฤษฎีชีววิทยาอาจไม่สามารถอธิบายความหลากหลายเกี่ยวกับอุดมคติในความงามที่วัฒนธรรมต่าง ๆ มีไม่เหมือนกัน เช่น กลุ่มชาวมัวร์ในเขตทะเลทรายซาฮารา นิยมผู้หญิงที่มีรูปร่างอ้วน ชาวญี่ปุ่นนิยมใช้ผ้ามัดทรวงอก (Miller, 2006) ในวัฒนธรรมตะวันตกช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 18 นิยมผู้ชายที่มีน่องเรียว แต่ปัจจุบัน ผู้ชายตะวันตกนิยมบริหารร่างกายให้มีกล้ามใหญ่และมีซิกแพค เป็นต้น อุดมคติเรื่องความงานในเรือนร่างจึงเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา มิใช่สิ่งที่คงที่ตายตัวและถูกกำหนดขึ้นจากปัจจัยทางพันธุกรรม (Lancaster, 2003) การทำความเข้าใจวัฒนธรรมความงามในปฏิบัติการของมนุษย์จึงจำเป็นต้องศึกษาเงื่อนไขของช่วงเวลาและพลวัตที่เปลี่ยนแปลงไปตามพื้นที่และสถานการณ์ทางสังคม Edmonds (2008) อธิบายว่าความงามมิใช่เรื่องของการครอบงำโดยคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง และมิใช่การกดขี่ระหว่างเพศชายหรือเพศหญิง หากแต่ความงามยังเกี่ยวข้องกับอารมณ์และความรู้สึกและการแสดงออกทางสังคมที่มีผลต่อการใช้ชีวิตของบุคคล คำถามที่น่าสนใจคือ ทำไม “ความงาม” บางลักษณะจึงชี้นำสังคมได้และมีอิทธิพลต่อการปฏิบัติของมนุษย์ ความงามที่ถูกเลือกให้มีคุณค่าต่อการใช้ชีวิตทางสังคมกลายเป็นมาตรฐานสากลที่ขยายตัวไปยังสังคมต่าง ๆ ได้อย่างไร และความงามในอุดมคติสัมพันธ์กับกระบวนการโลกาภิวัตน์ของทุนนิยมข้ามชาติอย่างไร

 

การปฏิบัติเชิงความงาม

           Edmonds (2008) ตั้งข้อสังเกตว่าความงามเกี่ยวข้องกับการปฏิบัติเชิงสุขภาพที่ส่งผลให้การแก้ไขสรีระร่างกายดำเนินไปภายใต้ความคิด ความรู้สึก อารมณ์ ความปรารถนา ความฝัน จินตนาการและความเชื่อบางประการ ความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนดังกล่าวนี้ทำให้ “ความงาม” มิใช่เรื่องของอำนาจและกฎระเบียบเพียงอย่างเดียว แต่ยังยึดโยงอยู่กับโลกทัศน์และความรู้สึกที่คนแต่ละคนมีอยู่ โดยเฉพาะความงามที่ทำให้เกิดสำนึกของการมีตัวตนและการปรับปรุงตัวตนให้เป็นไปตามความพอใจ ปฏิบัติการความงามเป็น “กระบวน” ที่ดำเนินอยู่ตลอดเวลา มิใช่สิ่งที่เกิดขึ้นและสิ้นสุดลง แต่มนุษย์จะปฏิบัติเชิงร่างกายเพื่อทำให้เกิดความงามในรูปแบบบางอย่างที่ตนเองปรารถนา และสามารถแก้ไขการปฏิบัติเหล่านั้นต่อไปเรื่อย ๆ กระบวนการปฏิบัตินี้ เห็นได้จากการออกกำลังเพื่อลดไขมัน การกินอาหารที่ถูกหลักโภชนาการ การผ่าตัดเปลี่ยนแปลงรูปร่างหน้าตาในคลีนิกความงาม การใช้เครื่องสำอางและครีมบำรุงผิวพรรณ การรับประทานยาและไวตามินเพื่อควบคุมรูปร่างและสีผิว เป็นต้น การปฏิบัติเชิงความงามในลักษณะต่าง ๆ ที่พบในปัจจุบัน มักจะดำเนินควบคู่ไปกับคำอธิบายเรื่องสุขภาพที่ดี ในแง่นี้ความรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทางการแพทย์ จึงถูกนำมาใช้ในปฏิบัติการเกี่ยวกับความงามอย่างเข้มข้นและแพร่หลายในโลกสมัยใหม่ (Taussig at al., 2003)

           Edmonds (2008) เสนอแนวคิดเรื่อง “สุขภาพความงาม” (Aesthetic health) เพื่อทำความเข้าใจว่าความรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทางการแพทย์ปัจจุบันดำรงอยู่ในวิธีปฏิบัติทางร่างกายและสุขภาพของมนุษย์อย่างไร ซึ่งวิธีปฏิบัติลักษณะนี้บ่งบอกถึงเทคโนโลยีของการสร้างตัวตน (technologies of the self) โดยมนุษย์หันไปพึ่งความรู้ด้านการแพทย์เพื่อนำมาใช้ในการจัดการร่างกายให้เป็นไปตามแนวทาง เงื่อนไข รูปทรงและแบบที่ถูกกำหนดขึ้น ในแง่นี้ การสร้างความงามคือกระบวนการกระทำเชิงร่างกายและเกี่ยวข้องกับการดูแลสุขภาพของมนุษย์ ตัวอย่างเช่น มารดาที่เลือกผ่าตัดคลอด พวกเธอมีความคิดว่าจะช่วยให้อวัยวะเพศไม่สึกหรอและไม่เสียรูปทรง เนื่องจากมีความกังวลว่าหากคลอดตามธรรมชาติ เด็กที่คลอดทางช่องคลอดจะสร้างความเจ็บปวดให้กับมารดาและทำให้อวัยวะเพศบอบช้ำ การผ่าตัดคลอดจึงเป็นทางเลือกของผู้หญิงที่ต้องการจะรักษารูปทรงของอวัยวะเพศให้สมบูรณ์สวยงาม รวมทั้งยังมีการตัดสินใจทำหมันรังไข่หลังจากการคลอดบุตรในผู้หญิงที่ตัดสินใจมีลูกเพียงพอ และบางกรณี ผู้หญิงจะให้แพทย์ทำการดูดไขมันส่วนเกินระหว่างตั้งครรภ์ออกไปและทำศัลยกรรมช่องคลอดให้กระชับขึ้นหลังจากคลอดบุตร (Edmond, 2007a, 2007b) ความงามกับการดูแลสุขภาพจึงดำเนินควบคู่กันไป

           ในกรณีของผู้ป่วยเอชไอวี พบว่าชาวเกย์ที่รับประทานยาต้านไวรัสต่อเนื่องและยาวนาน พวกเขาจะได้รับผลกระทบทางร่างกาย เช่น ดวงตามีสีเหลืองขุ่น เกย์บางคนจึงใช้สิ่งนี้เป็นสัญลักษณ์ของการอยู่กับเชื้อเอชไอวีและแสวงหาคู่รักที่มีการติดเชื้อเหมือนกัน ขณะที่เกย์บางคนตัดสินใจหันไปออกกำลังให้ร่างกายมีกล้ามแข็งแรงใหญ่โตพร้อมกับกินยาสเตอรอยด์ เพื่อทำให้ตนมีร่างกายเหมือนนักเพาะกาย ในแง่หนึ่งเป็นการสร้างการยอมรับทางสังคมที่คนอื่นจะไม่มองเขาเป็นคนผิดปกติทางเพศ ชื่นชมร่างกายที่สมเป็นชาย อีกแง่หนึ่งก็เพื่อสร้างเสน่ห์ทางเพศเพื่อทำให้เกย์ด้วยกันหันมาสนใจเพื่อคบหาแบบคนรักหรือเป็นเพื่อนนอน (Kavasoglu & Anderson, 2021) ในกรณีการบริโภคและใช้ยาเพื่อสุขภาพและความงาม เช่น ยาลดความอ้วน ยาที่ทำให้ผิวขาวกระจ่าง ครีมบำรุงผิวและลบรอยหิ้วย่นบนใบหน้า รวมถึงสารเคมีที่ฉีดเข้าร่างกายเพื่อให้ผิวหนังเต่งตึง ยาชนิดต่าง ๆ เหล่านี้เกี่ยวข้องกับสังคมบริโภคและความรับผิดชอบของผู้ผลิตและผู้จำหน่าย จะเห็นว่ายาหลายชนิดมีการลักลอบผลิตอย่างผิดกฎหมายและส่งผลกระทบต่อร่างกายของผู้ใช้ มิติของความงามจึงเกี่ยวข้องกับจริยธรรมของผู้ผลิตสินค้าที่จะไม่แสวงหาประโยชน์ทางธุรกิจและคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้บริโภค (Kuezynski, 2006) ประเด็นดังกล่าวคือปัญหาสังคมปัจจุบัน ดังจะเห็นได้จากข่าวเกี่ยวกับผู้ใช้ยาที่ไม่มีคุณภาพ หรือยาที่ไม่ได้รับรองจากแพทย์ เมื่อผู้ใช้ยาเหล่านั้นได้รับความเสียหาย เช่น เกิดผลข้างเคียงทางร่างกายที่ไม่พึงประสงค์ ปัญหาดังกล่าวนี้คือปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมความงามที่มุ่งแสวงหาประโยชน์ทางธุรกิจที่เกาะกระแสความนิยมในการมีผิวขาวและมีรูปร่างผอมเพรียว

           ปัจจุบันการแพทย์เพื่อความงาม (aesthetic medicine) เข้ามามีบทบาทสำคัญในการสร้างและจัดระเบียบร่างกายของมนุษย์ เห็นได้จากการทำศัลยกรรมดูดไขมัน ซ่อมแซมช่องคลอด ผ่าตัดถุงใต้ตา ผ่าตัดเปลือกตาที่หย่อนยาน เป็นต้น เหตุผลด้านสุขภาพที่ดีและความสวยงามของเรือนร่างจึงแยกขาดจากกันไม่ได้ อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนวิธีคิดเกี่ยวกับการมีรูปร่างที่ดีตามมาตรฐานสากลคือสิ่งที่เกิดขึ้นในยุคเหตุผลแบบวิทยาศาสตร์ที่ความรู้ทางการแพทย์มีอิทธิพลต่อการอธิบายสภาวะเสื่อมโทรมของร่างกาย ภายใต้ความรู้ดังกล่าวทำให้มนุษย์มอง “ร่างกาย” ในฐานะวัตถุที่ต้องได้รับการควบคุม แก้ไข เยียวยา รักษา และปรับปรุงให้สวยงาม สมบูรณ์ และแข็งแรง นั่นหมายถึงการเชื่อว่าร่างกายต้องเป็น “วัตถุที่สมบูรณ์แบบ” (perfectible material) สิ่งนี้อาจแตกต่างไปจากวิธีคิดที่มองชีวิตเป็นการรักษาสมดุลทางจิตใจซึ่งให้ความสำคัญกับการฝึกสมาธิและปัญญา มุ่งเน้นการขัดเกลาจิตให้สงบและมองดูธรรมชาติอย่างที่เป็น (Edmonds, 2008) ในอุตสาหกรรมความงามที่ขับเคลื่อนด้วยความรู้วิทยาศาสตร์ “ความงาม” จะถูกนิยามเป็นเพียงสภาวะที่แยกขาดจากการมีชีวิตทางสังคม กล่าวคือ ความงามจะถูกนิยามผ่านร่างกายมากกว่าจะถูกมองเป็นประสบการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปตามเงื่อนไขของชีวิต เมื่อความงามถูกจำกัดให้อยู่เฉพาะเรือนร่าง สิ่งที่ขาดหายไปคือการเรียนรู้ทักษะการมีชีวิตที่ดำเนินไปพร้อม ๆ กับการจัดระเบียบร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นการเคลื่อนไหว การพูดเจรจา และแสดงความรู้สึกเพื่อมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นและสิ่งรอบข้าง ซึ่งมนุษย์ต้องแสดงความเคารพและเห็นคุณค่าของสิ่งอื่นไปพร้อมกับการเห็นความงามในร่างกายตนเอง

           การศึกษาของ Anna Aalten (2004, 2007) พบว่านักเต้นบัลเลต์มองความงามของร่างกายผ่านการจัดระเบียบแขนขาให้เป็นเส้นตรงและควบคุมการเคลื่อนไหวตามจังหวะ ร่างกายของนักเต้นบัลเลต์จึงเป็นร่างที่ต้องสัมพันธ์กับระบบเรขาคณิตทั้งวงกลม การตั้งฉาก เส้นตรงและแนวนอน ร่างกายทางชีววิทยาของนักบัลเลต์จะเป็นไปตามกฎโภชนาการของการควบคุมอาหาร เพราะจะต้องมีรูปร่างสมส่วนและไม่อ้วน ขณะเดียวกันนักบัลเลต์ต้องเรียนรู้อารมณ์และความรู้สึกของการเคลื่อนไหวร่างกายตามจังหวะและท่วงท่าต่าง ๆ ความงามของบัลเลต์จึงมีทั้งการควบคุมสรีระและอารมณ์ไปพร้อม ๆ กัน ความสวยงามทางร่างกายจึงมิได้ทำให้การเต้นบัลเลต์ประสบความสำเร็จ หากแต่ผู้เต้นต้องเห็นความงามทางอารมณ์ด้วย จากตัวอย่างนี้ Edmonds (2008) ได้ตั้งข้อสังเกตว่า “การแพทย์เพื่อความงาม” ในสังคมปัจจุบันพยายามทำให้ความงามทางร่างกายแยกออกจากความงามทางอารมณ์ ส่งผลให้มนุษย์สนใจความสมบูรณ์แบบทางร่างกายและมองข้ามความฉลาดทางอารมณ์ การมีชีวิตด้วยความงามที่เอียงเข้าหาเรือนร่างเพียงอย่างเดียวจึงเป็นสภาวะขาดสมดุลในชีวิต

 

ความงามในโลกทุนนิยม

           เมื่อเรามองดูสินค้าและบริการความงามที่เติบโตและแผ่ขยายอย่างรวดเร็วในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา จะพบว่าธุรกิจและอุตสาหกรรมด้านสุขภาพและความงามสร้างผลกำไรและสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจจำนวนมหาศาล ความนิยมสินค้าสุขภาพและความงามในปัจจุบันสะท้อนให้เห็นวิธีคิดที่มนุษย์สนใจและเน้นความสำคัญของรูปลักษณ์ทางกายภาพเป็นที่ตั้ง บริบทที่ส่งผลให้ธุรกิจสุขภาพและความงามเติบโตอย่างรวดเร็วก็คือ การมีสำนึกเรื่องตัวตนและเสรีภาพในการใช้ชีวิตของพลเมืองซึ่งก่อตัวมาพร้อมกับระบบทุนนิยมและการเมืองแบบประชาธิปไตย ปัจเจกชนมุ่งเน้นความสำเร็จส่วนตัวและลงทุนกับการสร้างตัวตนให้โดดเด่นและได้รับการยกย่องเชิงรูปธรรม ซึ่งเรือนร่างคือดัชนีชี้วัดความสำเร็จที่เห็นชัดเจนที่สุด ภายใต้ระบบเหตุผลและความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ในยุคสมัยใหม่ Berman (1982) เคยอธิบายว่าสิ่งที่ดูเหมือนเป็นความสร้างสรรค์และแปลกใหม่ มันกลับเป็นการบ่อนทำลายได้ในเวลาเดียวกัน เฉกเช่นการทำให้เรือนร่างสวยงามตามมาตรฐาน คือการลดทอนคุณค่าในเรือนร่างที่ไม่สอดคล้องกับมาตรฐานที่ทุนนิยมกำหนด ในแง่นี้ ความงามแบบทุนนิยมถูกทำให้เป็น อัตลักษณ์และบุคลิกภาพที่ถาวรของบุคคล และลดคุณค่าความงามที่เกิดขึ้นจากสายสัมพันธ์ทางสังคมที่มนุษย์ควรมีต่อกัน (Haiken, 1997)

           อุดมคติความงามยังมีอิทธิพลต่อการแสดงออกในความเป็นชายและหญิง โดยทำให้บุคคลกระวนกระวายที่จะค้นหาวิธีการเพื่อจัดการกับรูปร่างของตนให้เป็นไปตามมาตรฐานความงามที่ถูกนิยามว่ามีเสน่ห์ทางเพศ Carolan (2005) ตั้งข้อสังเกตว่าในสังคมที่ทุกคนพยายามแสวงหาอำนาจในตัวตน เรือนร่างถูกทำให้กลายเป็นวัตถุที่ต้องถูกสร้างใหม่ให้โดดเด่นและงดงาม วิธีการที่ชัดเจนคือการบริโภคสินค้าความงามหลากหลายรูปแบบ ตั้งแต่ยาลดความอ้วน ครีมบำรุงผิว เข้าคอร์สออกกำลังกาย ไปจนถึงผ่าตัดเพื่อแก้ไขรูปร่างหน้าตาตนเอง กระบวนการทำให้ร่างกายเป็นวัตถุที่โดดเด่นนี้และทำให้บุคคลต้องแข่งขันเพื่อสร้างตัวตนใหม่ ความงามแห่งเรือนร่างจึงสร้างระบอบสังคมที่ขยายขอบเขตและค้ำจุนตรรกะการแข่งขันทางธุรกิจและการแสวงหาความสำเร็จทางวัตถุ ผลลัพธ์เชิงสังคมที่เกิดขึ้นในปัจจุบันจึงเห็นการแบ่งชนชั้นและความไม่เท่าเทียมของเรือนร่าง จะมีเรือนร่างบางแบบเท่านั้นที่ประสบความสำเร็จและได้รับการยกย่อง เช่นเรือนร่างของนางแบบ นายแบบ นางงาม และนักเต้น Edmonds (2008) กล่าวว่าสิ่งเหล่านี้คือระบบของการสร้างช่วงชั้นทางสังคมแบบใหม่และการให้อภิสิทธิ์กับคนบางกลุ่ม เช่นเดียวกับ Baudrillard (1990) เคยชี้ว่าเรือนร่างกำลังกลายเป็นวัตถุที่มีไว้เพื่อตอบสนองการบริโภค และทำให้วิธีคิดเรื่องความรักและเซ็กส์เปลี่ยนไปอยู่ในพรมแดนของการเป็นวัตถุของเรือนร่างที่น่าหลงใหล

 

ความงามในทัศนะมานุษยวิทยา

           กระบวนการเป็นสมัยใหม่หรือความทันสมัยแบบตะวันตก นักมานุษยวิทยาเคยตั้งข้อสังเกตว่ากระบวนการนี้มิได้เป็นแบบเดียวกันในทุกพื้นที่ แต่ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขทางสังคม วัฒนธรรม การเมือง เศรษฐกิจและประวัติศาสตร์ของแต่ละสังคม ผลของการเปลี่ยนไปสู่ความทันสมัยอาจพิจารณาได้จากการปรับตัวของชนท้องถิ่นและกลุ่มชาติพันธุ์ที่ต่อสู้และรับมือกับความเจริญทางวัตถุที่แตกต่างกันไป (Sahlins, 1994) ตัวอย่างเช่นภาพนางแบบตะวันตกที่อยู่ในนิตยสารแฟชั่นถูกให้คุณค่าและความหมายจากคนกลุ่มต่าง ๆ ไม่เหมือนกัน เช่นเดียวกับเครื่องสำอางซึ่งถูกใช้ด้วยความหมายต่าง ๆ ในแต่ละกลุ่มคนต่างกันไป (Ossman, 2002) หรือการประกวดนางงามในแต่ละสังคมย่อมจะเลือกผู้หญิงตามอุดมคติที่สังคมนั้นให้คุณค่า (Banet-Weiser, 1999) ในแง่นี้ จะเห็นการซ้อนทับกันระหว่างมาตรฐานความงามแบบตะวันตกกับคุณค่าความงามของท้องถิ่น ทำให้ความงามแห่งเรือนร่างมีความซับซ้อนมากกว่าจะชี้วัดตัดสินว่ามาตรฐานแบบมีอำนาจครอบงำและแบบใดถูกบดบังให้สูญหายไป เช่นความงามของผู้หญิงในบราซิลได้นำคุณค่าสีผิวของคนพื้นเมืองซึ่งมีสีน้ำตาลมาเป็นมาตรฐานความงาม เป็นต้น

           การศึกษาเปรียบเทียบข้ามวัฒนธรรมเกี่ยวกับความงาม นักมานุษยวิทยาได้เสนอว่าประสบการณ์และวิธีปฏิบัติของบุคคลภายใต้เงื่อนไขวัฒนธรรมที่ต่างกัน ทำให้มาตรฐานความงามที่ถูกสร้างขึ้นในระบบทุนนิยมมิได้เป็นแบบเดียวกันในทุกพื้นที่ สินค้าความงามและการปฏิบัติบนเรือนร่างจะถูกปรับแก้ไขอยู่ตลอดเวลา เช่น ในกลุ่มผู้หญิงชนชั้นแรงงานที่มีรายได้น้อย ซื้อเครื่องสำอางราคาถูกมาใช้และตกแต่งใบหน้าของตนเองในแบบที่ตนเองชื่นชอบและไม่เป็นไปตามมาตรฐานความงามของผู้หญิงในวงการแฟชั่นหรือการแต่งงานในวงการนางแบบ จะเห็นว่าวิธีปฏิบัติเพื่อความงามบนเรือนร่างในอุตสาหกรรมความงามถูกแก้ไขและเปลี่ยนแปลงจากประสบการณ์ของคนที่แตกต่างทางชนชั้น เพศสภาพ ช่วงวัย และฐานะทางเศรษฐกิจ ขณะเดียวกัน ความงามของเรือนร่างก็เป็นทุนทางสังคมที่เปิดโอกาสให้คนบางคนขยับฐานะของตนเองดีขึ้นกว่าเดิม ทำให้ผู้หญิงรู้สึกว่าตนเองสามารถท้าทายอำนาจทางสังคมที่เคยปิดกั้นโอกาสทางเศรษฐกิจ (Crawford et al., 2008)

 



ผู้ตั้งกระทู้ KBH :: วันที่ลงประกาศ 2024-03-22 10:24:45


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล